บพค. จัดการประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีอวกาศ และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. นำทีมการประชุมระดมความคิดเห็นฯ ร่วมกับ ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสร้างความสามารถวิศวกรรมอวกาศ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ ดร.ศุภฤกษ์ อัครวิทยาพันธุ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้ง ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัยที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ภายในการประชุมมีการเสวนาถึงความสำคัญของการพัฒนากำลังคน การสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศไทย และการหารือถึงช่องว่างการวิจัยและพัฒนากำลังคน สมรรถนะสูงเพื่อธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากการระดมความคิดเห็นนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่อง “การปลูกฝัง สร้างการเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ต้องสร้างให้กับเยาวชนในทุกช่วงวัย”
สำหรับระดับปฐมวัยกิจกรรมด้านดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญ ระดับมัธยมศึกษากิจกรรมด้านอวกาศและดาราศาสตร์ จะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับเยาวชนในการค้นหาตัวเอง ควรเปิดโอกาสและเวทีในการแสดงออกทางความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศ และในช่วงระดับอุดมศึกษาการสร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายในอนาคต ต้องสร้างหลักสูตรที่ดึงดูดความสนใจ เปิดรับองค์ความรู้จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงข้อจำกัดในการสร้างเส้นทางอาชีพ (Career Path) ที่จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1) การกำหนดเป้าหมายและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้ เครื่องมือ หรือโจทย์วิจัย โดยมุ่งเป้าให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด 2) การร่วมงานและสนับสนุนภาคเอกชน ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและระบบนิเวศด้านอวกาศ รวมถึงเส้นทางสายอาชีพ และ 3) การร่วมงานกับหน่วยงานในต่างประเทศ ในลักษณะที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อการสร้างเครือข่ายอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ ในการเสวนาแนวทางการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากโครงการ Thai Space Consortium-Pathfinder (TSC-P) ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งมีหน่วยงานให้ความสนใจในการพัฒนาดาวเทียมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ อาทิ 1) Tracking ด้านการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ 2) Monitoring ด้านการเกษตรกรรม ด้าน Climate change ด้านความมั่นคงเพื่อการยกระดับงานวิจัย และ 3) Building up นักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงต่อยอดการวิจัยและการพัฒนาเส้นทางสายอาชีพ
อย่างไรก็ตาม ผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะนำไปสื่อสารกับภาคประชาสังคม เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยแก่ทุกภาคส่วนต่อไป