สดร. จับมือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการองค์ความรู้วิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ แก้ปัญหาคุณภาพอากาศในไทย

สดร. จับมือกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการองค์ความรู้วิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ แก้ปัญหาคุณภาพอากาศในไทย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคุณสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิชาการ พัฒนางานวิจัย บูรณาการองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของสองหน่วยงาน ต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านการทำฝนหลวง และการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการป้องกัน ควบคุม และบรรเทาปัญหาคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืน พิธีลงนามในวันดังกล่าวจัดขึ้น ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจาก สดร. จะเป็นสถาบันวิจัยด้านดาราศาสตร์แล้ว ยังมีพันธกิจในการสร้างงานวิจัยชั้นแนวหน้าในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศและบรรยากาศ รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัยขึ้นเอง ปัจจุบันกำลังพัฒนาและสร้างต้นแบบเครื่อง LiDAR เพื่อการศึกษาละอองลอยในชั้นบรรยากาศ เก็บข้อมูลหาต้นตอที่แท้จริงของปัญหาฝุ่นละออง และล่าสุดในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สดร. ยังเป็นหนึ่งในหน่วยงานวิจัยในประเทศไทย ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมศึกษาวิจัยคุณภาพอากาศระดับนานาชาติในโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาหรือนาซา (NASA) เพื่อวิเคราะห์ และสร้างแบบจำลองของสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ในภูมิภาคเอเชีย เชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศ ตลอดจนพัฒนาแบบจำลองในการคาดการณ์การแก้ไขปัญหา รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของไทยต่อไปในอนาคต

ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สดร. กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการต่อยอด และบูรณาการองค์ความรู้ขั้นสูงด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ โดยเฉพาะการนำโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศยาน มาบูรณาการร่วมกับอุปกรณ์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์คาดการณ์คุณภาพอากาศ สำหรับแจ้งเตือนประชาชนได้ ตลอดจนการวางแผนแก้ปัญหาคุณภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะเป็นการวิจัย พัฒนา และขยายผลองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์บรรยากาศ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์กับการทำฝนหลวงและการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ ผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางคุณภาพอากาศ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับศึกษา และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสภาพอากาศสำหรับวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา ประชาชน และชุมชนเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

โอกาสนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือดังกล่าว อีก 2 ฉบับ ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับ 2 หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนคือ รศ.ดร. เทพินทร์ พัชรานุรักษ์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้แทนอธิการบดี) และ รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมลงนาม

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า