เปิดตัวแล้ว! เว็บไซต์ Food Waste Hub เผยแพร่นวัตกรรมฝีมือคนไทย พลิกวิกฤต ‘ขยะอาหาร’ เป็น ‘ไอดียธุรกิจพร้อมเสิร์ฟ’

เปิดตัวแล้ว! เว็บไซต์ Food Waste Hub เผยแพร่นวัตกรรมฝีมือคนไทย พลิกวิกฤต ‘ขยะอาหาร’ เป็น ‘ไอดียธุรกิจพร้อมเสิร์ฟ’

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com  โดยการสนับสนุนของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เพื่อเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยในการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์เอสเอ็มอี และ สตาร์ตอัป ที่มองหาแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าลดขยะอาหาร และแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะรีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะ เพิ่มอัตราการรีไซเคิล หนุนนโยบาย BCG ของประเทศ

ปัญหาขยะอาหาร กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดย 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกทิ้งเกิดการเน่าเสีย  สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยมีขยะอาหารคิดเป็น 64% ของปริมาณทั้งหมด  และยังมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากไม่มีการคัดแยกที่ถูกต้องก่อนทิ้ง ทำให้ขยะอาหารปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่น ส่งผลให้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่นพลาสติก ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามไปด้วย

วช. และ Dow เห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะของประเทศ จึงได้ร่วมมือกันส่งเสริมการคัดแยกขยะด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในความร่วมมือล่าสุดคือ การสร้างเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com เพื่อสนับสนุนการจัดการขยะอาหารอย่างมีส่วนร่วมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอาหาร จากการนำเศษอาหารมาใช้ประโยชน์ก่อนเน่าเสีย ช่วยลดการปนเปื้อนต่อขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้ขยะในประเทศลดลงและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลไปพร้อม ๆ กัน

การพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการนำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ข้อมูลนวัตกรรม จากการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. หรือต้นแบบโครงการ เพื่อให้คนไทยได้รับความรู้เกี่ยวกับการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com ณ ห้องประชุมชั้น 2 ตึกทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ยังได้มีการจัดแสดงนวัตกรรมการจัดการขยะอาหารให้กับสื่อมวลชน เอสเอ็มอี สตาร์ตอัปและผู้ที่สนใจเข้าร่วมชม เพื่อให้เห็นตัวอย่างงานวิจัยส่วนหนึ่งที่มีเผยแพร่ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ นักวิจัยทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณ สำหรับการอนุญาตให้เผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีกด้วย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของ Food Waste Hub ว่า “โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเราหวังว่า Food Waste Hub จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการจัดการขยะอาหารในประเทศไทย เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับ Dow ในการพัฒนา Food Waste Hub ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลและแนวคิดที่จะเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารในประเทศไทย และส่งเสริมนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

นอกจากนี้ Dow ยังได้ร่วมมือกับ วช. ให้การสนับสนุนหนึ่งในงานวิจัยดังกล่าว โดยส่งเสริมการนำกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำเต้าหู้ มาผลิตเป็นแป้งถั่วเหลืองโอคาร่า (OKARA) ซึ่งสามารถทดแทนการใช้แป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรีได้หลากหลายชนิด มีโปรตีน และใยอาหารสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน ช่วยแก้ปัญหาผู้ที่แพ้กลูเตนในแป้งสาลี ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดการบริโภคแป้ง และผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยอาหารคีโต โดยเริ่มนำแป้งโอคาร่า มาใช้ที่ร้านเรย์ เบเกอรี่ ของมูลนิธิคุถณพ่อเรย์ พัทยา ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566

คุณเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ตั้งเป้าที่จะช่วยลดโลกร้อน เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมวงจรรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การแยกขยะอาหารและนำมาใช้ประโยชน์ก่อนที่จะเน่าเสีย สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน และลดการปนเปื้อนของเศษอาหารกับขยะอื่น ๆ โดยเฉพาะพลาสติก ทำให้สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมฝีมือคนไทยเหล่านี้ ยังสามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โครงการนี้จึงไม่เพียงแต่มีผลในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังให้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างครบวงจร”

นอกจากแป้ง OKARA แล้ว ยังมีงานวิจัยฝีมือคนไทยที่น่าสนใจและพร้อมให้นำไปใช้ประโยชน์อีกหลากหลายซึ่งท่านสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหน้าเว็บไซต์  www.foodwastehub.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า