เอ็นไอเอ เล็งปั้นแบรนด์ท้องถิ่น-ภูมิภาค จากนิลมังกรรุ่น 1-2 สู่ธุรกิจฐานนวัตกรรมระดับ 100 ล้านใน 3 ปี ผ่านแคมเพนใหม่ “นิลมังกร 10X”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวโครงการ “นิลมังกร 10X” เพื่อสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมระดับภูมิภาค ในด้านการสร้างยอดขายตั้งแต่การสร้างแบรนด์ การบริหารจัดการ การเงิน การวางแผนธุรกิจ และการตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดทุน พร้อมยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม ของผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ที่จะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี ด้วยประสบการณ์ของกลุ่มที่ปรึกษาและนักลงทุน ที่จะร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแบบเจาะลึก โดยต่อยอดสร้างการเติบโตขยายผลธุรกิจนวัตกรรมจากผู้ประกอบการนิลมังกรรุ่นที่ 1 และ 2
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากการดำเนิน “โครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย (นิลมังกร) รุ่นที่ 1 และ 2” ร่วมกับศูนย์แบรนด์เคยู มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธุรกิจนวัตกรรม ผ่านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถในการผลิตสินค้าหรือบริการนวัตกรรม แต่มีปัญหาคือ ผู้ประกอบการมีขนาดเล็ก ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตลาด เพื่อทำให้เกิดยอดขาย ดังนั้น NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม จึงต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการเชื่อมโยง “คนเก่ง และ คนมีทุน” เพื่อเข้าไปช่วยวางแผนธุรกิจ แผนการตลาด และช่วยลงมือปฏิบัติงาน หรือกิจกรรมตามแผนธุรกิจและแผนการตลาดที่กำหนด เพื่อสร้างยอดขายให้มีการเติบโต และเป็นการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงให้เข้าสู่ตลาดทุน พร้อมยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ให้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี
“ทั้งนี้ NIA จะเป็น “พี่เลี้ยงผู้ผลักดัน” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มนักลงทุนอิสระ เพื่อผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้ได้รับการขยายผลหรือการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักจำนวน 4 ธุรกิจ/ปี และสามารถขยายธุรกิจท้องถิ่น ด้วยการใช้นวัตกรรมและมียอดขายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี และยังเป็นการส่งเสริมและสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ ให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจของพื้นที่ได้ โดยมีบริษัทแรกที่เข้าร่วมโครงการคือ บริษัท เดอนัว จำกัด จากผลงาน เดอนัว: ผงปลาร้าเพื่อคนรุ่นใหม่”
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาและยกระดับธุรกิจนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลากหลายหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการได้ โดยโครงการนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดเตรียมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ผศ.ดร.ลลิตา โกศการิกา นักสร้างแบรนด์ เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาร่วมผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้ได้รับการขยายผล หรือสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก และสามารถขยายธุรกิจท้องถิ่นด้วยการใช้นวัตกรรม โดยมีเป้าหมายให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการสนับสนุนแค่เพียงองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอให้สามารถเติบโตไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้สร้างความร่วมมือกับ “กลุ่มที่ปรึกษาและนักลงทุนอิสระ” ที่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจจริง มีประสบการณ์จริง และประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจ มาช่วยผลักดันผู้ประกอบการในโครงการนี้
คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูมฟัก จำกัด Foomfuk เป็นการรวมตัวกันของกรรมการนิลมังกร ทั้งคุณรุ่งธรรม พุ่มสีนิล นักเล่าเรื่อง คุณยุทธนา บุญอ้อม (ป๋าเต็ด) นักคิดนักสร้างสรรค์ ที่เล็งเห็นศักยภาพของกิจการที่เข้ามานำเสนอในรายการ ขณะเดียวกันก็เห็นจุดอ่อนของแต่ละธุรกิจ ทั้งจากผู้ประกอบการเองและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ ทั้งด้านการจัดการบริหาร กลยุทธ์ การตลาด และเงินทุน จึงรวมตัวขึ้นเพื่อเป็น SME Enabler ให้กับกิจการที่ผ่านโครงการนิลมังกร การลงทุนจะเน้นใช้เวลาไปสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการจัดการและการดำเนินธุรกิจ โดยเข้าไปช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยดูแลการบริหารเงินสดในมือ รวมถึงหาแหล่งเงินทุนให้ ซึ่งผลตอบแทนที่เราจะได้เมื่อบริษัทสำเร็จตามแผนคือ การเข้าถือหุ้นของแต่ละกิจการในสัดส่วนประมาณร้อยละ 20-30 ทั้งนี้จะใช้เวลาในการสร้างความแข็งแรงให้กับแต่ละธุรกิจประมาณ 6-12 เดือน ขึ้นกับฐานทุนเดิม ลักษณะธุรกิจที่ดำเนินการและสถานะภาพของกิจการเวลานั้น
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกธุรกิจ คือ 1. จริตผู้ประกอบการตรงกัน ต้องเข้าใจ ต้องเข้าถึง ต้องเป็นชิ้นเดียว จึงจะไปด้วยกันได้ สนุกด้วยกัน ลำบากด้วยกัน และสำเร็จไปด้วยกัน 2. กิจการอยู่ในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและ Scale ได้ 6-10X ใน 12 เดือน และ 3. มีการทำบัญชีที่ดีและพร้อมจะโปร่งใส
โดยธุรกิจแรกที่เลือกไว้คือ “ปลาร้าผงเดอนัว” ที่มีร้านส้มตำเดอนัวเป็นแฟรนไชส์อยู่จำนวนหนึ่ง เป็นธุรกิจอาหารที่พร้อมจะเติบโตได้อย่างแน่นอน และผู้ประกอบการเองก็มีความมุ่งมั่นสูง จากนี้จะสามารถรับดูแลได้อีก 4 ธุรกิจเท่านั้น เพราะต้องการทำน้อยแต่ได้เยอะ และจะเน้นแต่ละธุรกิจอย่างมีคุณภาพ
คุณเจนวิทย์ หลายทวีวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท เดอนัว จำกัด กล่าวว่า “ตลาด “น้ำปลาร้า” มีการเติบโตสูง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันยังขาดความสะดวกในการใช้งานและการเก็บรักษา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบบรรจุขวด ซึ่งเมื่อใช้งานแล้วยังมีส่วนที่เหลือเก็บสำหรับใช้ในครั้งต่อไป และกลายเป็นภาระในการเก็บรักษา บริษัทจึงเห็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำปลาร้าชนิดผง” ด้วยการทำแห้งแบบฝอย ด้วยกระบวนการฉีดฝอยของเหลวให้กระจายเป็นละอองฝอยในถังอบลมร้อนจนกลายเป็นผงแห้ง ที่มีการควบคุมปริมาณความชื้นของผลิตภัณฑ์และบรรจุในฟอยล์ปิดสนิท ขนาด 25 กรัม เพื่อให้ใช้งานสะดวก 1 ซองต่อ 1 เสิร์ฟ และสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 1 ปี เหมาะสำหรับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ NIA ที่ทำให้บริษัทได้รับเลือกให้เป็นธุรกิจแรกในโครงการนิลมังกร 10X ทำให้ได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญมากมายที่พร้อมช่วยผลักดันธุรกิจนี้ให้เติบโตต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด