ไทรอยด์เป็นพิษ อย่าคิดว่าไกลตัว แพทย์ชี้ใครๆ ก็เป็นได้ พร้อมเผยอาการเสี่ยงก่อนสาย

ไทรอยด์เป็นพิษ อย่าคิดว่าไกลตัว แพทย์ชี้ใครๆ ก็เป็นได้ พร้อมเผยอาการเสี่ยงก่อนสาย

ข่าวการเสียชีวิตของศิลปินชื่อดังเมื่อไม่นานมานี้ คงทำให้เราได้ยินชื่อ “ไทรอยด์เป็นพิษ” บ่อยขึ้น แต่หลายคนก็ยังคิดว่า “มันไม่ใช่โรคที่พบกันได้บ่อย ๆ มั้ง เราคงไม่เป็นอะไรหรอกน่า” แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า ไทรอยด์เป็นพิษเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน!

หลายคน ๆ อาจเคยมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้แล้ว แต่ไทรอยด์เป็นพิษกลับเป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปยังอาจไม่เข้าใจว่ามันเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน หรือใครที่เสี่ยงต่อโรคนี้บ้าง  นพ. ปริญญา สมัครการไถ อายุรแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวิมุต จะมาอธิบายอย่างง่าย ๆ ให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น แถมวิธีสังเกตอาการที่น่าสงสัยซึ่งอาจนำไปสู่ไทรอยด์เป็นพิษได้

“ไทรอยด์ไม่เหมือนโรคทั่วไปที่เราจะรักษาตัวเองได้ ถ้าเรามีอาการที่น่าสงสัย สิ่งเดียวที่ทำได้และต้องทำทันทีก็คือรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง ทำการตรวจค่าไทรอยด์เพื่อค้นหาสาเหตุและทำการรักษาตามสาเหตุเท่านั้น”  นี่คือสิ่งแรกที่ นพ. ปริญญา เตือนเกี่ยวกับโรคไทรอยด์เป็นพิษ

แล้วไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร? “ง่าย ๆ ก็คือการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป หรือต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบจึงมีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาสูงผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นไทรอยด์ ก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น อีกปัจจัยก็คือเกี่ยวกับการแพ้ภูมิตัวเองหรือ Autoimmune ซึ่งร่างกายจะผลิตสารบางอย่างที่กระตุ้นให้ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนสูงขึ้น สรุปก็คือโรคนี้เป็นความผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ และอย่างที่กล่าวไป โรคนี้ใคร ๆ ก็เป็นได้ – แต่ก็รักษาได้เช่นกัน”

แม้โรคนี้จะมีสาเหตุหลัก ๆ ข้างต้น แต่จากสถิติชี้ว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไทรอยด์เป็นพิษจากการแพ้ภูมิตัวเองแบบ Autoimmune หรือ Graves’ Disease สูงกว่าผู้ชายและสามารถเกิดได้ในทุกช่วงอายุ ข้อเท็จจริงนี้ทำให้คุณผู้หญิงทุกคนต้องตรวจเช็กตัวเองมากขึ้น

สำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือเปล่า นพ. ปริญญา ยังได้ให้คำแนะนำในการตรวจเช็กอาการอย่างคร่าว ๆ ว่า “เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิในร่างกาย เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถจับสังเกต 5 อาการเบื้องต้นที่อาจบ่งชี้ถึงโรคไทรอยด์เป็นพิษ ได้แก่ 1) อาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ  2) มือสั่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน 3) อารมณ์หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวง่ายกว่าคนปกติ 4) น้ำหนักลด ท้องเสีย หรือประจำเดือนผิดปกติในสตรี และ 5) ต่อมไทรอยด์โตผิดปกติ

โชคดีที่ปัจจุบันเราเริ่มมี Smart Watch หรือ Smart Band ที่สามารถดูอัตราการเต้นของหัวใจได้ ถ้าเรามีอาการใจสั่นหรืออัตราการเต้นของหัวใจที่สูงมาก ๆ คือสูงกว่าช่วง 90-120 บางคนอาจจะสูงถึง 150 ต่อเนื่อง ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมา ก็เป็นสัญญาณเตือนค่อนข้างชัดเจนว่าต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาค่าไทรอยด์ หรือบางรายที่ต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนที่ผิดปกติหลายก้อนก็อาจจะต้องอัลตราซาวน์ดูว่าเกิดจากอะไร”

จริง ๆ แล้วไทรอยด์เป็นพิษถือเป็นกลุ่มอาการ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่าคนไข้มีโรคอะไรที่ซ่อนอยู่อีก ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจึงขึ้นอยู่กับว่าเราสังเกตตัวเองและตรวจเจออาการได้เร็วแค่ไหน อัตราการเสียชีวิตจะยิ่งน้อยลงมาก ถ้าเราปล่อยไว้จนอาการรุนแรงมากขึ้น การทำงานของหัวใจก็จะไม่ดีจนอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือบางกลุ่มจะเกิดอาการตับอักเสบที่รุนแรงและส่งผลให้เสียชีวิตได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือถ้าไทรอยด์เป็นพิษเกิดในคนไข้สูงอายุที่มากกว่า 60 ปี อาการที่บอกมาทั้งหมดอาจไม่ชัดเจน เช่น ถ้าคนไข้สูงอายุมีอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย คนไข้อาจจะมาด้วยโรคหัวใจหรืออาการที่หนักไปเลย เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุที่มีอาการผิดปกติต้องรีบมาตรวจทันที

“เทคโนโลยีการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถรักษาได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษจากอะไร ถ้าอาการน้อย แพทย์ก็จะให้แค่ทานยา ซึ่งหลายคนทานยาประมาณปีครึ่งก็รักษาหายได้ หรือการกลืนแร่เพื่อไปทำลายต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนสูงผลิตปกติ หรือบางรายที่รักษาด้วยสองวิธีแรกแล้วไม่ได้ผล อาจต้องทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก ซึ่งในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง สิ่งสำคัญคือถ้ารู้เร็วตั้งแต่ยังมีอาการน้อย ๆ ก็จะยิ่งรักษาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น”

นพ. ปริญญา สมัครการไถ

ตอนนี้เราคงรู้แล้วว่าไทรอยด์เป็นโรคที่รักษาได้ ไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายจนต้องตื่นตระหนก เพียงแต่ต้องมีความตระหนักและระวังหมั่นสังเกตตัวเอง ก็สามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หากมีอาการเข้าข่าย ก็ให้มาพบแพทย์ และถ้าตรวจเจอก็จะรักษาได้ไม่ยากและหายได้เร็ว สิ่งสำคัญคือการมาพบแพทย์เฉพาะทางนั้น โดยเฉพาะอายุรแพทย์ ต่อมไร้ท้อ ต่อมไทรอยด์ ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสำหรับคนไข้มากที่สุด

Loading

Share this post


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า